ระบบเบรก ABS
ระบบเบรก ABS มีจุดประสงค์ ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเบรกล็อคตาย กล่าวคือ เมื่อผู้ขับขี่ ขับรถไปตามเส้นทาง เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่ต้องทำให้เกิดการเหยียบเบรกอย่างกระทันหัน แรงเบรกที่กระทำออกมา ก็จะส่งผลให้ น้ำมันเบรก มีแรงดันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเบรกที่ประจำอยู่แต่ละล้อ ก็จะทำให้ล้อหยุดอย่างกระทันหันเช่นกัน เมื่อรถที่วิ่งด้วยความเร็ว แล้วเกิดล้อล็อคตายเช่นนี้ จะทำให้เกิดการลื่นไถล เช่น เมื่อล้อคู่หลังล็อคตาย ก็จะเกิดอาการปัด ไถลออกไปด้านข้าง ทำให้เสียการทรงตัว และควบคุมรถด้วยความลำบากเพิ่มขึ้น แต่ถ้าการล็อคตายเกิดกับล้อคู่หน้า ซึ่งเป็นล้อที่ควบคุมการขับขี่ด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ จะต้องมีมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าเหตุการณ์ตอนนั้น อยู่ในสภาวะถนนลื่น หรือฝนตกหละก็ ยิ่งอันตรายมากขึ้นไปอีก
ระบบเบรก ABS ประกอบด้วยฟันเฟืองวงแหวน ติดตั้งเกาะอยู่กับดิสก์ หรือเพลาหมุน และจะมีอุปกรณ์เซนเซอร์ (Sensor) ติดตั้งอยู่ใกล้กับฟันเฟืองดังกล่าว เมื่อล้อหมุนไป ฟันเฟืองจะหมุนตาม เซนเซอร์จะตรวจจับอัตราการหมุนของฟันเฟือง แล้วรายงานอัตราความเร็วดังกล่าว ไปให้กับชุดควบคุมอิเล็คทรอนิคส์(ECU) ของระบบ ABS ทราบ จากนั้น ชุดอุปกรณ์ควบคุมดังกล่าว ก็จะสั่งการทำงานไปเปิด-ปิดวาล์วความดันน้ำมันเบรก ที่ติดตั้งร่วมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของวงจรท่อน้ำมันเบรก
โปรแกรมการทำงาน ที่อยู่ในชุดควบคุมอิเล็คทรอนิคส์ จะคอยตรวจสอบสัญญาณจากเซนเซอร์อยู่เสมอ เมื่อกรณีที่ผู้ขับขี่เหยียบเบรกครั้งใด วาล์วความดันน้ำมันเบรก จะเปิด-ปิด เพื่อลด-เพิ่ม แรงดันไปกระทำกับตัวเบรกที่ติดตั้งประจำแต่ละล้อ การเปิด-ปิดวาล์วที่เกิดขึ้น จะมีความถี่ประมาณ 15 ครั้งต่อวินาที ตัวเบรกที่ติดตั้งอยู่ประจำล้อ ก็จะทำการ จับ-ปล่อย-จับ-ปล่อย ด้วยความถี่เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้รถจึงมีความรู้สึกเวลาเหยียบเบรกว่า มีแรงสะท้าน สะท้อนออกมาถี่ๆ ที่ปลายเท้าขณะเหยียบเบรก นั่นคือการทำงานของวาล์ว ควบคุมแรงดันน้ำมันเบรกนั่นเอง