วิธีการดูแลและบำรุงรักษาแบตเตอรี่
แบตเตอรี่มีหน้าที่เก็บกระแสไฟฟ้าไว้ในรูปแบบของพลังงานเคมี ไว้จ่ายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ กระแสไฟในแบตเตอรี่จะถูกเติมโดยอุปกรณ์ที่เรียกว่าไดชาร์ท หรืออัลเตอร์เนเตอร์ ในขณะที่เครื่องยนต์ยังไม่ทำงานนั้น กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์จะถูกดึงจากแบตเตอรี่ที่เดียว แต่เมื่อเครื่องยนต์ทำงาน กระแสไฟฟ้าที่นำมาใช้จะถูกดึงจากไดชาร์ทแทน ถ้าไดชาร์ทผลิตกระแสไฟออกมาไม่เพียงพออุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ก็จะดึงกระแสไฟจากแบตเตอรี่มาใช้งานด้วย
แบตเตอรี่มีหน้าที่ต้องจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- ช่วยให้มอเตอร์สตาร์ททำงาน
- ช่วยสร้างประกายไฟที่หัวเทียน เพื่อใช้ในการจุดระเบิด (เครื่องยนต์เบ็นซิน)
- จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์แสงสว่างต่างๆ เช่น หลอดไฟ
- จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นฯ เช่น รีเลย์ กล่องสมองกล เครื่องเสียงรถยนต์
การตรวจเช็คและข้อสังเกตุ
- แบตเตอรี่ลูกใหม่ จะต้องเติมน้ำกรดเป็นครั้งแรก
- การเติมแบตเตอรี่เมื่อน้ำกรดแห้งลง จะต้องเติมด้วยน้ำกลั่นเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความค่าความถ่วงจำเพาะในน้ำกรดมากเกินไป
- ระดับน้ำกรดไม่ควรอยู่ต่ำกว่าขีดล่าง และไม่เกินขีดบนของแบตเตอรี่
- ต้องเปิดฝาแบตเตอรี่ออกตรวจเช็คและเติมทุกช่อง เพราะแต่ละช่องของแบตเตอรี่นั้นมีแผ่นกั้นไม่ถึงกัน
- ฝาจุกปิดจะมีรูหายใจ ให้ตรวจเช็คด้วยว่าไม่ได้อุดตัน ถ้าอุดตันแบตเตอรี่เกิดระเบิดขึ้นได้
- ห้ามนำประกายไฟเข้าใกล้เป็นอันขาด (แบตเตอรี่อาจระเบิดได้ เพราะมีแก็ส)
- ที่ขั้วบวกของแบตเตอรี่จะต้องมีฉนวนหุ้มด้วย ป้องกันขั้วแบตเตอรี่ชนกับฝากระโปรงรถ เป็นเหตุให้แบตเตอรี่ได้รับความเสียหาย
- ขั้วบวกของแบตเตอรี่จะใหญ่กว่าขั้วลบเสมอ (ป้องกันความผิดพลาดในการใส่)
- ห้ามต่อกระแสไฟจากแบตเตอรี่ไปใช้โดยตรง โดยไม่ผ่านฟิวส์เป็นอันขาด (ไฟอาจไหม้รถท่านได้)
- น้ำกรดในแบตเตอรี่ มีสภาพเป็นกรด ระมัดระวังอย่าให้ถูกเสื้อผ้า ถ้ากระเด็นใส่ให้รีบนำไปซักทันที
การเลือกซื้อน้ำกลั่น
- เลือกซื้อน้ำกลั่นที่มีชื่อที่อยู่ของบริษัทผู้ผลิตพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ อย่างถูกต้อง
- ปัจจุบันนี้มีน้ำกลั่นวางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่สองแบบ คือ
- น้ำกลั่นธรรมดา
- น้ำกลั่นที่เติมน้ำยาเคมีอีเลคโตรไลท์ชนิดไม่มีกรด ซึ่งมีคุณสมบัติดีกว่าน้ำกลั่นธรรมดา
– เคลือบประสานแผ่นธาตุ ป้องกันการผุกกร่อน
– ยืดอายุและช่วยให้แบตเตอรี่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
– ช่วยให้น้ำกรดแห้งช้าลง